สศอ. ผลักดันผู้ประกอบการ พัฒนาสิ่งทอเทคนิคการแพทย์หวังบุกเบิกตลาดใหม่ พร้อมสนับสนุนการแพทย์ครบวงจร

อัปเดตล่าสุด 16 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 548 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมผลักดันผู้ประกอบการสิ่งทอไทยสู่สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์  
เพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสเปิดตลาดใหม่ให้อุตสาหกรรมสิ่งทอ  พร้อมทั้งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve การแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ช่วยลดต้นทุนการให้บริการและยกระดับการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ 
 
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ผลักดันผู้ประกอบการสิ่งทอไทยในการยกระดับธุรกิจสู่การผลิต “สิ่งทอเทคนิคการแพทย์” (Meditech)  ช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่ โดยร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอในการเชื่อมโยงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผู้จัดจำหน่าย และผู้ใช้สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด เพิ่มมูลค่าให้สิ่งทอด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคการแพทย์แบบครบวงจร ในลักษณะสิ่งทอสมัยใหม่ที่มีความหลากหลาย แตกต่างจากคู่แข่งและผลิตโดยคนไทย (Made in Thailand)
 
จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพการตลาดสูงและสามารถทำกำไรได้มากเมื่อเทียบกับสิ่งทอเทคนิคประเภทอื่น  โดยได้ บมจ. ฟิลเทค  เอ็นเตอร์ไพรส์    ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ชั้นนำ ร่วมชี้ทิศทางการขยายตัวของสิ่งทอการแพทย์  โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทใช้แล้วทิ้ง (Disposable products)  เช่น  ชุดเสื้อกาวน์ผ่าตัดปลอดเชื้อประเภทใช้แล้วทิ้งถุงมือ หมวกคลุมศีรษะ ที่คลุมรองเท้า หน้ากากอนามัย และถุงบรรจุวัสดุใช้แล้วทิ้ง รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ
 
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับสิ่งทอสู่สิ่งทอเทคนิคการแพทย์ เช่น บริษัท เพอร์ม่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่พัฒนานวัตกรรมเส้นใยที่ยับยั้งแบคทีเรียได้อย่างถาวรด้วยการผสานเทคโนโลยีนาโนซิงค์  และต่อยอดผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดสิ่งทอการแพทย์  เช่น  ชุดผู้ป่วยและผ้าปูที่นอนขจัดเชื้อแบคทีเรีย  หรือ หจก. กิมง่วนจั่น  ที่พัฒนาสิ่งทอให้มีคุณสมบัติป้องกันฝุ่นและป้องกันน้ำซึมผ่าน ที่ต่อยอดไปสู่การผลิตชุดพยาบาลในห้องผ่าตัด นอกจากนี้ การพัฒนาด้านการออกแบบก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการยกระดับสินค้าเข้าสู่ตลาดดังกล่าว เช่น การออกแบบเสื้อผู้ป่วยที่มีความสะดวกต่อการสวมใส่และขยับตัวของผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ใส่เฝือกแขน เสื้อผ้าที่ออกแบบให้เหมาะสมกับรูปร่างผู้สูงอายุ
 
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า การส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาสิ่งทอเทคนิคการแพทย์อย่างจริงจัง  นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว  ยังเพิ่มทางเลือกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะมีชุดเครื่องแบบและชุดใส่ปฏิบัติงานที่มีการใช้งานที่หลากหลาย  เช่น  ชุดที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย  ป้องกันของเหลวซึมผ่าน  และระบายน้ำและอากาศได้ดีในชุดเดียว รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่จะสามารถเข้าถึงวัสดุอุปกรณ์ฟื้นฟูร่างกายที่ผลิตภายในประเทศในราคาย่อมเยาว์กว่าอุปกรณ์นำเข้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรม สาธารณสุข และสังคมผู้สูงวัย
 
ทั้งนี้ สศอ. มีแนวทางจัดทำกลไกการพัฒนาแพลตฟอร์มอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์  โดยจะนำร่องด้วยสิ่งทอเทคนิคการแพทย์เพื่อเป็นหนึ่งฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)  อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ภายใต้ Road Map Thailand 4.0  นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการให้บริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นและเป็นการยกระดับการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่ในท้ายที่สุด โดยในอนาคตการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ของไทยจะสามารถขยายสู่ตลาดส่งออกในหลายประเทศ ตามความต้องการจากผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งดูได้จากการส่งออกสิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ของไทยในปี 2561 มีมูลค่ารวม 59.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 7.0 จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกอันดับต้น ๆ คือ ผ้าพันแผลผ้าก๊อซ ของใช้เพื่อการอนามัยที่ทำด้วยแผ่นเยื่อของเส้นใยเซลลูโลสและ เอ็นเย็บแผล ตามลำดับ นอกจากนี้ตลาดในประเทศยังมีการเติบโตที่ดีมาก  ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในการยกระดับสู่อุตสาหกรรมอนาคตต่อไป ” นายณัฐพล  รังสิตพล กล่าวปิดท้าย